December 26, 2009

การใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ United States of America (USA) เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีมลรัฐ Alaska อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา และ มีมลรัฐฮาวายอยู่ทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก สหรัฐอเมริกา มีอาณาเขต ทิศเหนือติดประเทศแคนาดา ทิศใต้ติดประเทศเม็กซิโก ทิศตะวันออก ติดกับ มหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตก ติดกับ มหาสมุทรแปซิฟิก สหรัฐอเมริกาประกอบไปด้วยรัฐต่างๆถึง 50 รัฐ และมีเมืองหลวงซึ่งมีชื่อว่า Washington D.C.
..........................................................................................................................
ภูมิอากาศ
ประเทศสหรัฐอเมริกาในแถบขั้วโลกเหนือจะมีอากาศตั้งแต่หนาวติดลบ 40 องสาเซลเซียส จนถึงร้อนแบบทะเลทราย 40 องศาเซลเซียส ส่วนแถบทางตอนกลางของประเทศจะมีฤดูร้อนและหนาวที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ช่วงหน้าหนาวจะอยู่ในเดือนมกราคม และจะร้อนที่สุดในเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าเป็นในแถบทางด้านตะวันออกอากาศในฤดูร้อนและหนาวจะแตกต่างกันไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ส่วนในด้านแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกอากาศในฤดูหนาวและฤดูร้อนจะเปลี่ยนแปลง เพียงเล็กน้อย ส่วนด้านแถบตะวันตกอากาศในฤดูหนาวจะคล้ายๆกลับช่วงฤดูใบไม้ผลิกล่าวคืออากาศ จะไม่เย็นจัดนัก แต่ในฤดูร้อนอากาศจะร้อนอาจสูงเท่ากับเส้นศูนย์สูตรเลยทีเดียว
ประเทศสหรัฐอเมริกา มี 4 ฤดู อุณหภูมิในแต่ละรัฐจะแตกต่างกันออกไป คือ
ฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 9 - 23 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 20 - 34 องศาเซลเซียส
ฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน อุณหภูมิเฉลี่ย 7 - 25 องศาเซลเซียส
ฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย-12 ถึง -8 องศาเซลเซียส
..........................................................................................................................
เวลา
สหรัฐอเมริกามีเวลาท้องถิ่น ที่เหลื่อมกันตามพื้นที่ (Time Zone) ดังนี้


หมายเหตุ :
  • GMT (Greenwich Mean Time) คือ เวลา ณ เมือง Greenwich ในประเทศอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ที่Prime Meridian (zero longitude)
  • ระหว่างวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายนจนถึงวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เวลาจะต่างจากเมืองไทยน้อยลง 1 ช.ม. คือ จากเดิมช้ากว่ากัน 12 ชม. ก็จะเป็น 11 ชม. เป็นต้น
  • เมื่อเดินทางมาถึงที่หมายอย่าลืมปรับเวลานาฬิกาให้ตรงกับเวลาในท้องถิ่น(โดยสามารถเทียบเวลาได้จากนาฬิกาของสนามบิน) เพราะเคยมีนักเรียนพลาดการเปลี่ยนต่อโดยสารเครื่องบินแล้วหลายครั้ง
..........................................................................................................................
เมืองสำคัญ
New York City : มีชื่อเล่นๆว่า "บิ๊กแอปเปิล" (Big Apple) เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ทางตะวันออกของประเทศ เป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์กประกอบด้วย 5 Boroughs (The Bronx, Brooklyn, Manhattan, Queens และ Staten Island) และแบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกหลายเขตชุมชน ศูนย์กลางของ New York คือ แมนแฮตตัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญและมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิเช่น New York Stock Exchange, Statue of Liberty, Empire State, Ground Zero, สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ สะพาน Brooklyn ฯลฯ
Boston : เป็นเมืองหลวงของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ในสหรัฐอเมริกา และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเขตนิวอิงแลนด์ บอสตันเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุด มั่งคั่งที่สุด และมีวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ธุรกิจที่สำคัญในบอสตัน ได้แก่ การศึกษา สถานพยาบาล การเงิน และเทคโนโลยี
บอสตัน ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกว่า 100 แห่งในเมืองบอสตัน มหาวิทยาลัยที่สำคัญและมีชื่อเสียงต่างๆ ได้แก่ Boston University, MIT, Harvard University และ Tufts University
Chicago : เป็นเมืองตั้งอยู่ในมลรัฐอิลลินอยส์ รู้จักกันในชื่อ "เมืองแห่งลม" (Windy City)เพราะตัวเมืองตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบมิชิแกน Lake Michiganจึงทำให้มีลมพัดแรงตลอดทั้งปี เมืองชิคาโกตั้งอยู่ในเคาน์ตีคุก รัฐอิลลินอยส์ เขตมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกา พัฒนามาจากเมืองทุ่งนาในปี พ.ศ. 2376 (ค.ศ. 1833) กลายมาเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งหนึ่งของโลก และในปัจจุบันนับเป็น 1 ใน 10 เมืองสำคัญของโลกทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ชิคาโกยังคงเป็นศูนย์กลางทางด้านความเจริญ การเงิน การคมนาคม แลtวัฒนธรรมที่สำคัญของเขตมิดเวสต์
Los Angeles : หรือที่รู้จักในชื่อ แอลเอ (L.A.) เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา และเป็นศูนย์กลาง ทางด้าน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการบันเทิง ลอสแอนเจลิสตั้งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และเริ่มตั้งเป็นเมืองเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) ลอสแอนเจลิสได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการปะปนของวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก เนื่องจากการอพยพของคนหลายเชื่อชาติ เนื่องจากลักษณะของอากาศที่อบอุ่นสบาย และลักษณะการเป็นอยู่ต่างๆ คำว่า Los Angeles มาจากภาษาสเปน โลสอังเคเลส (Los Ángeles) หมายถึง นางฟ้า ซึ่งชื่อเมืองนั้นมีความหมายว่า "เมืองแห่งเทพ" เช่นเดียวกับ กรุงเทพมหานคร ลอสแอนเจลิส ได้เป็นที่รู้จักในชื่อของที่ตั้งของ ฮอลลีวูด และปลายทางของถนนสายประวัติศาสตร์ รูท 66 ที่มีชื่อเสียง
San Francisco : เป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญของรัฐ California มีประชากร ประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรเป็นอันดับสองของประเทศ เมืองซานฟรานซิสโกตั้งอยู่บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก และภายในตัวเมืองเต็มไปด้วยภูเขาลูกเล็กลูกน้อย ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากในซานฟรานซิสโกคือชาวสเปน โดยในปี ค.ศ. 1776 เมืองมีชื่อว่า เซนต์ฟรานซิส (St. Francis) ในภายหลังจากช่วงยุคตื่นทองในปี ค.ศ. 1848 ทำให้ประชากรในซานฟรานซิสโกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมืองเติบโตอย่างมาก ซานฟรานซิสโกมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเขา และมีชายฝั่งติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก สัญลักษณ์ที่ขึ้นชื่อของเมือง คือ สะพาน Golden Gate และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงได้แก่ เกาะ Alcatraz รถรางที่มีชื่อเสียง Pier 39 ถนน Lombard และ Russian Hill
Washington, D.C. : โดยตัวย่อ D.C. ย่อมาจาก District of Colombia อยู่บริเวณทิศตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ติดต่อกับรัฐ Virginia และ รัฐ Maryland โดย Washington, D.C. ตัวเมืองตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำ Potomac River
Washington, D.C. สร้างในสมัย ประธานาธิบดี George Washington ประธานาธิบดีท่านแรกของสหรัฐอเมริกา เพื่อแทนเมือง Philadelphia ที่เคยเป็นเมืองหลวงของสหรัฐสมัยเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษ และมีอนุสาวรีย์วอชิงตัน ที่มีลักษณะเป็นแท่ง Obelisk สูง 555 ฟุต (169 เมตร) สร้างเป็นเกียรติแก่ George Washington
World Bankและ IMF ก็ตั้งสำนักงานอยู่ใน Washington, D.C.
Honolulu : เป็นเมืองหลวงของรัฐฮาวาย ตั้งอยู่บนเกาะโออาฮู (Oahu) ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะฮาวาย ที่ท่องเที่ยวในฮาวายมีสารพัดแบบ ทั้งชายหาด ภูเขา น้ำตก หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่าง Pearl Harbor ซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่เกาะโออาฮูมีหาดที่ดังขึ้นชื่อก็คือหาดไวกีกิ (Waikiki)
Florida : เป็นมลรัฐที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักกันในนาม ซันไชน์สเตต (Sunshine State) มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหลมตั้งอยู่ระหว่าง อ่าวเม็กซิโก, มหาสมุทรแอตแลนติก และช่องแคบฟลอริดา เป็นรัฐที่นักท่องเทียวนิยมมาพักผ่อนตากอากาศ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ Disney World, Universal Studios, Six Flags
..........................................................................................................................
ระบบไฟฟ้า
ระบบ ไฟ 120 Volts 60 Hertz ส่วน 220 Volt จะใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ภายในบ้านเช่น เตาไฟฟ้า เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า และปลีกไฟจะเป็นแบบสามขา ถ้าต้องการน้ำเครืองใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทยไปใช้ จะต้องเตรียม Adaptor แปลงไฟไปด้วย
..........................................................................................................................
โทรศัพท์
ในอเมริกามีบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น AT&T, 7-Eleven Speak out Wireless, Virgin Mobile USA ฯลฯ สามารถนำโทรศัพท์มือถือจากเมืองไทยได้ โดยไปซื้อ SIM Card ที่อเมริกาใส่ได้เลย แต่ต้องเติมเงินต่างหากนะคะ
วิธีการโทรศัพท์กลับประเทศไทย: 011+66+รหัสจังหวัด (ไม่ต้องใส่เลข 0) +เบอร์โทรศัพท์
วิธีโทรศัพท์จากประเทศไทย : 001 หรือ 006 หรือ 007 หรือ 008 หรือ 009 +1+รหัสเมือง+เบอร์โทรศัพท์
..........................................................................................................................
ไปรษณีย์
United States Postal Service (USPS) ที่ทำการไปรษณีย์เปิดให้บริการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 8:30-17:00 และวันเสาร์ เวลา 8:30-12:00 โดยทั่วไปน้องๆสามารถใช้บริการพื้นฐานของไปรษณีย์ เช่น การซื้อ Stamp ได้ที่ Campus ของมหาวิทยาลัยได้ แต่การส่งจดหมายลงทะเบียนไม่สามารถทำได้ต้องไปส่งที่ที่ทำการไปรษณีย์ภายนอกมหาวิทยาลัย
Post Office Boxes หรือ P.O. Box: เป็นบริการเช่าตู้ไปรษณีย์ส่วนตัว ค่าเช่าแตกต่างกันไป แล้วแต่เมือง การเช่าก็ทำไม่ยาก น้องๆเพียงแต่นำ ID card หรือpassport เพื่อใช้ในการสมัคร
บริการไปรษณีย์ แบ่งเป็นภายในประเทศและต่างประเทศ

ภายในประเทศ

1. Express Mail ส่งถึงภายใน 1 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $13.05 ขึ้นอยู่กับขนาด น้ำหนัก และระยะทาง
2. Priority Mail ส่งถึงภายใน 1-3 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $4.95 ขึ้นอยู่กับขนาด น้ำหนัก และระยะทาง
3. First-Class Mail ส่งถึงภายใน 1-3 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $0.44 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก และ รูปทรง
4. Parcel Post ส่งถึงภายใน 2-8 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $4.95 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก และ ระยะทาง
5. Media Mail ส่งถึงภายใน 2-8 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $2.38 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก
6. Library Mail ส่งถึงภายใน 2-8 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $2.38 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก

ต่างประเทศ

1. Global Express Guaranteed ส่งถึงภายใน 1-3 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $31.95 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก และระยะทาง
2. Express Mail International ส่งถึงภายใน 3-5 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $25.95 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก และระยะทาง
3. Priority Mail International ส่งถึงภายใน 6-10 วัน ราคาเริ่มต้นที่ $10.95 ขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก และ รูปทรง
4. First-Class Mail International ไม่สามารถระบุเวลาที่ส่งถึงผู้รับได้ ราคาเริ่มต้นที่ $0.75 ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและระยะทาง
น้องๆสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.usps.com/
..........................................................................................................................
สกุลเงิน
ธนบัตรสหรัฐฯ มี 7 ชนิด ฉบับชนิดละ 1, 2, 5, 10, 20, 50,และ 100 ดอลล่าร์ ธนบัตรทุกชนิดจะมีขนาดและสีเดียวกันหมด ต่างกันตรงรูปประธานาธิบดี และมูลค่า ปัจจุบัน ธนบัตรชนิด 2 ดอลล่าร์ไม่ค่อยได้พบว่าหมุนเวียนในตลาดเท่าที่ควร
เงินเหรียญมีหลายชนิด ได้แก่ เหรียญ 2 ดอลล่าร์ 1 ดอลล่าร์ 50 เซ็นต์ (Half Dollar) 25 เซ็นต์ (Quarter) 10 เซ็นต์ (Dime) 5 เซ็นต์ (Nickel) และ 1 เซ็นต์ (Penny)
..........................................................................................................................
การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร
ในสหรัฐอเมริกาคนส่วนใหญ่นิยมซื้อขายโดยจ่ายผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือเช็ค มากกว่าการซื้อขายโดยใช้เงินสด การมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะให้ได้มาซึ่งบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือเช็ค ดังนั้น หลังจากที่เดินทางถึงสหรัฐฯ นักเรียนทุกคนจึงต้องรีบเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในโอกาสแรกที่สามารถทำ ได้ นอกจากเพื่อความสะดวกในการรับจ่ายเงินแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัยกับเงินที่นำติดตัวมาจากเมืองไทยด้วย
โดยทั่วไปบัญชีเงินฝากธนาคารมี 2 ชนิดคือ
1. Checking Account คือ บัญชีเงินฝากที่รองรับการจ่ายเช็คเงินสดหรือการรูดบัตรเดบิต ธนาคารส่วนใหญ่นอกจากจะไม่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากในบัญชีนี้แล้ว ยังจะคิดค่าธรรมเนียมการใช้เช็คทุกเดือน เว้นแต่ผู้เปิดบัญชีมีเงินคงเหลือในบัญชีในรอบเดือนนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนด ซึ่งแต่ละธนาคารจะกำหนดไว้ไม่เท่ากัน จึงขอให้สอบถามกับธนาคารให้ชัดเจนก่อน
ในระหว่างเปิดบัญชี Checking Account เจ้าหน้าที่ของธนาคารจะถามว่าต้องการ Bank Card (Debit Card หรือ Check Card) หรือไม่ ให้ตอบว่าต้องการ Bank Card นี้จะทำหน้าที่เหมือนกับบัตร ATM บวกกับ Debit Card ของบ้านเรา คือ ใช้เบิกเงินสดจากตู้ ATM และใช้แทนเช็คเงินสด โดยทุกครั้งที่รูดบัตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด ธนาคารจะหักเงินออกจากบัญชีโดยตรงเป็นจำนวนเงินเท่านั้น
2. Saving Account คือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สำหรับนักเรียนฯ ซึ่งนำเงินติดตัวมาจำนวนมาก และเป็นเงินเย็นที่ไม่ต้องนำมาหมุนใช้จ่ายรายเดือน ขอแนะนำให้เปิดบัญชี Saving Account เพิ่มอีกบัญชี และนำเงินเย็นมามาฝากในบัญชีนี้ เพราะจะได้ดอกเบี้ย

หลักฐานที่ใช้เปิดบัญชีธนาคาร
1. Passport
2. Driver’s License or State ID
3. Social Security Number Card
4. (Optional) Student ID, หรือ I-20
5. (Optional) Phone Bill, หรือ Utility Bill ที่เป็นชื่อคุณ เพื่อแสดงถึงที่อยู่ของคุณ

หมายเหตุ :
  • ระวังอย่ารูดบัตร Bank Card/Debit Card หรือเขียนเช็คโดยมีเงินในบัญชี Checking Account ไม่พอสำหรับการจ่ายโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะต้องเสียค่าปรับประมาณ $30ต่อครั้งแล้ว ประวัติความน่าเชื่อถือทางการเงินของท่านจะด่างพร้อย และจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินผ่านบัตรหรือเช็คในอนาคต
  • ให้จดรายการเงินเข้าเงินออกทุกครั้งที่นำเงินเข้าหรือใช้เงินออกจากบัญชี Checking Account เพื่อให้มั่นใจว่า ในบัญชี Checking Account มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับจ่ายเงินทุกครั้ง

Checking Account
Checking Account มีประโยชน์มากในการจ่ายบิลต่างๆ เช่น ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์, ค่าโทรศัพท์, ค่าไฟค่าน้ำ, ค่าอินเตอร์เน็ตม ค่าเคเบิลทีวี (utilities) เพราะบัญชีแบบนี้คุณสามารถเขียนเช็คสั่งจ่ายได้ ประการสำคัญ คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่นิยมพก เงินสด (cash) จำนวนมากๆติดตัว แต่จะใช้จ่ายด้วยเช็คและบัตรเครดิตเป็นหลัก
การเปิดบัญชี checking นั้น ต้องฝากเงินเข้าบัญชีเมื่อเวลาคุณไปเปิดบัญชี คุณสามารถใช้เช็คเดินทาง (traveler’s check) เงินสด หรือจะโอนเงิน (wire transfer) จากธนาคารอื่นมาก็ได้ แต่อาจเสียค่าโอนประ มาณ $30-$40 อีกอย่างที่ต้องมีเวลาไปเปิดบัญชีก็คือ Social Security Number ครับ เพราะ นั่นจะเป็นข้อมูลที่ทางธนาคารจะหักภา ษีจากดอกเบี้ยเงินฝากเรา แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสีย โดยแนะนำให้ขอ form W-8 จากธนาคารมากรอกด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องโดนหักภาษีนี้
บัญชี checking นั้นส่วนใหญ่จะเสียค่า monthly service change ประมาณ $2 – $15 แล้วแต่ option ที่เราเลือก บางธนาคารอาจไม่ต้องเสียค่า monthly service change เลยก็ได้ ถ้าเราสามารถรักษา minimum balance ไว้ในบัญชีเราได้ ส่วนใหญ่ก็จะประมาณ $1000 พร้อมกันนี้เราอาจได้ interest จากการคง minimum balance นี้ด้วย แต่เรียกได้ว่าน้อยมาก ยังไงตอนเปิดบัญชีก็ควรถามเรื่องนี้ให้แน่ใจก่อน
ในการเปิดบัญชี Checking ธนาคารส่วนใหญ่จะมี Overdrawn Protection ให้เลือกด้วย นั่นคือ เมื่อจ่ายเช็คเกินจำนวนที่มีในบัญชี เช็คก็จะกลายเป็นเช็คเด้ง (bounced check) พร้อมกับเสียค่าปรับ $15-$30 แต่ถ้าเลือก Overdrawn Protection option ทางธนาคารก็จะจ่าย ส่วนที่ขาดไปให้เราก่อน และจะคิดดอกเบี้ยเราเป็น short-term loan แต่ถ้าน้องๆเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบสักหน่อย option นี้ก็ไม่มีความหมาย
ธนาคารทุกที่ในอเมริกาจะมีบริการ Online Banking ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะสะดวกมากในการเช็ค balance, activity ในการใช้เงินของน้องๆ หรือสามารถจ่ายบิลต่างๆทางออนไลน์ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ลองถามถึงบริการนี้ด้วยเมื่อเปิดบัญชี
เมื่อเปิดบัญชีเรียบร้อย น้องๆก็สามารถใช้จ่ายผ่านเช็คได้แล้ว เพราะทางธนาคารจะให้สมุดเช็คชั่วคราวมาให้ก่อน และจะส่งสมุดเช็คตัวจริงและบัตร ATM มาทางเมล์ในอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อมา


Debit Card and ATM
บัญชี checking จะมีบัตร ATM ที่สามารถใช้เป็น Debit Card ได้ด้วย ในอเมริกานั้น ATM จะหาได้ง่ายมาก เช่น ตาม Cafeteria, Shopping malls, Grocery Stores, Gas Stations, etc. จำนวนที่จะถอนได้ต่อวันก็ขึ้นกับบัญชีที่เราเลือก ส่วนใหญ่ก็จะประมาณ $300-$600 ครับ เครือข่าย ATM ที่ใหญ่ๆมีอยู่ 2 ค่าย คือ PLUS (1-800-VISA-911) และ CIRRUS (1-800-4-CIRRUS) ซึ่งธนาคาร ในเมืองไทยหลายแห่ง ก็เป็นเครือข่ายของ 2 ค่ายนี้อยู่ การที่จะดูว่า ATM เราเป็นค่ายไหน ก็ให้ดูที่หลังบัตร ATM ครับ จะมีเขียนบอกไว้
การใช้ ATM ถ้าเผลอไปใช้เครื่องต่างธนาคารหรือเครือข่าย อาจถูก charge ได้ ประมาณ $1-$2 ตรงนีแนะนำให้สอบถามทางธนาคารด้วยตัวเองว่าเครื่อง ATM ในเน็ตเวิร์คมีของธนาคารหรือค่ายไหนบ้างที่ไม่ charge
สำหรับการใช้บัตร ATM เป็น debit card นั้น ก็จะเหมือนการใช้บัตรเครดิตทั่วไป ไม่เหมือนก็ตรงที่เมื่อเรารูดบัตรซื้อของ เงินก็จะถูกรูดออกจากบัญชี checking ของเราในทันทีเลย debit card ทุกใบจะมีบอกว่าเป็นของค่ายไหน เช่น Visa หรือ Master Card และจะมีตัวเลขบนบัตรด้วย ถ้าเราต้องการซื้อของทางอินเตอร์เน็ต เราก็ต้องกรอกตัวเลขนี้ ถ้ายังไม่มีบัตรเครดิต debit card จะมีประโยชน์มาก เพราะเป็นการยากเหมือนกันสำหรับนักเรียนต่างชาติที่จะขอบัตรเครดิตในขณะเราเพิ่งเข้ามาอยู่ในอเมริกา
ทุกๆเดือนทางธนาคารจะส่ง Statement มาให้ทางอีเมล์ ซึ่งจะแสดงรายการ withdrawals และ deposits, ending balance หรืออาจแนบเช็คที่เรา cancel มาด้วย ผมแนะนำว่า ทุกครั้งที่ซื้อของ ให้เก็บใบเสร็จ (receipt) ไว้ด้วย เพื่อที่จะได้ตรวจทานกับ statement ของเรา สำหรับเช็คที่เราสั่งจ่ายไป ก็ให้นำ duplicated copy ในสมุดเช็คมาตรวจด้วย


Saving Account and Certificates of Deposit
บัญชี Saving นั้นจะแตกต่างจากบัญชี Checking ตรงที่เราได้ดอกเบี้ย (interest) เยอะกว่า แต่จะสามารถสั่งจ่ายเช็คได้เพียงแค่ไม่กี่ใบต่อเดือน หรืออาจไม่ได้เลย แต่ก็ยังสามารถถอนเงินด้วยบัตร ATM ได้ ธนาคารส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้ลูกค้าเปิดทั้ง Checking Account และ Saving Account พร้อมกัน ซึ่งมีข้อดีก็คือ จะสามารถใช้บัตร ATM ใบเดียว และ Online banking ได้ทั้ง 2 บัญชี แนะนำว่าถ้าเรามีเงินไม่มากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชี Saving ให้เสียเวลา แต่ถ้าใครมาเรียนพร้อม กับเงินก้อนโต ก็อยากแนะนำให้เปิด Saving กับ Checking พร้อมกันเลย เพื่อความสะดวกในการจัดการเงินของเรา ส่วนใหญ่ถ้าเปิด 2 บัญชีพร้อมกัน จะสามารถโอนเงินระหว่าง Saving และ Checking Account ทางอินเตอร์เน็ตได้ และฟรีด้วย สำหรับบัญชี Saving ก็จะมีค่า Service Charge เหมือน กับ Checking แต่เราอาจไม่ต้องเสียค่าบริการนี้ ถ้าสามารถคง minimum balance ไว้ในบัญชีได้ อย่างไรก็ตามลองตรวจสอบกับธนาคารดีๆก่อนเปิดบัญชี
บัญชี Certificates of Deposit จะได้ดอกเบี้ยมากกว่า Saving และ Checking Account เพียงแต่จะไม่สามารถถอนเงินออกมาก่อนเวลาที่กำหนด (ส่วนใหญ่จะประมาณ 1 ปี) ถ้าถอนออกมาก่อน ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ข้อควรรู้
  • FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของรัฐบาลกลาง ของอเมริกาได้ประกันบัญชีธนาคารทุกแบบด้วยวงเงินถึง $250,000 ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นกับบัญชีของเรา
  • สามารถตรวจสอบวันหยุดของธนาคารได้จาก http://holidayyear.com/
  • สามารถจ่ายค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเคเบิลทีวี (utilities) ผ่านทางธนาคารได้ ลองสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากธนาคารของเรา
  • บางธนาคารอาจ charge คุณ $1-$2 สำหรับการติดต่อกับพนักงานเคาเตอร์ (bank tellers) ขึ้นกับ ชนิดของบัญชีที่เปิด
..........................................................................................................................
ธรรมเนียมการให้ทิป
การให้ทิปในอเมริกาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นอัตรา 10% – 20% ของค่าบริการ มีบ้างที่จ่ายตามจำนวนชิ้นหรือครั้ง ดังนี้
  • ค่าทิปสำหรับบริการในร้านอาหารหรือภัตตาคาร (ยกเว้นในร้านอาหาร Fast Food หรือร้าน Self-Service) ให้ร้อยละ 15-20 ของค่าอาหาร
  • ค่าทิปสำหรับพนักงานขับรถแท๊กซี่ ให้ 10% - 15% ของค่าโดยสาร (ไม่จำเป็นต้องให้ทิปสำหรับพนักงานขับรถเมล์)
  • ค่าทิปสำหรับบริการตัดผมหรือเสริมสวย ให้ 10% -15% ของค่าบริการ
  • ค่าทิปสำหรับบริการหิ้วประเป๋าที่สนามบินหรือโรงแรม ให้ $1.00 ต่อกระเป๋า 1 ใบ
  • ค่าทิปสำหรับบริการจอดรถ ให้ $1-$2
การให้ทิป ถ้าเป็นร้านอาหารให้วางเงินค่าทิปไว้บนโต๊ะ ถ้าเป็นพนักงานขับรถแท๊กซี่ หรือพนักงานบริการหิ้วกระเป๋า ให้จ่ายเป็นเงินสดกับผู้ให้บริการโดยตรง นอกจากนี้ในกรณีที่จ่ายค่าบริการผ่านบัตรเครดิตสามารถบวกเงินค่าทิปในใบเสร็จที่จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้โดยตรง
ถ้าเลือกจ่ายค่าทิปเป็นเงินสด แทนการจ่ายผ่านบัตรเครดิต อย่าลืมขีดคาดช่องบรรทัดที่เว้นไว้สำหรับเติมเงินค่าทิปในใบเสร็จที่ท่าน ต้องลงนาม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นเติมเงินค่าทิปโดยที่ท่านไม่รับทราบ
ก่อนจ่ายค่าทิปให้ตรวจสอบว่าร้านค้าได้บวกค่าบริการไว้ในใบเสร็จแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีที่ไปทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ (ประมาณ 5 คนขึ้นไป) ร้านค้ามีสิทธิบวกค่าบริการในใบเสร็จได้โดยไม่ต้องแจ้งเราล่วงหน้าก่อน ในกรณีนี้เราไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าทิปอีก เพราะได้ถูกรวมอยู่ในค่าบริการแล้ว
ห้ามจ่ายค่าทิป หรือค่าน้ำร้อนน้ำชา ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง
..........................................................................................................................
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
1.ค่าเล่าเรียน
สถาบันการศึกษาจะเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติ ในอัตราแบบ "Non Resident" และมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การศึกษาในหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ ค่าธรรมเนียมในส่วนของการใช้ห้องปฏิบัติการหรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จะแยกออกจากค่าเล่าเรียน และต้องชำระค่าใช้จ่ายเมื่อเริ่มต้นภาคการศึกษา

2. หนังสือและอุปกรณ์การเรียน
นักศึกษาต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของค่าใช้จ่าย ทั้งหมด เกี่ยวกับหนังสือ เอกสารการเรียน เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่ต้องใช้ในเรื่องของการเรียน แต่สถาบันส่วนใหญ่จะมีบริการร้านขายหนังสือและอุปกรณ์การเรียนในราคาย่อมเยาแก่นักศึกษา

3. ค่าที่พักและอาหาร
นักศึกษาส่วนมากมักเลือกพักที่หอพักนักศึกษาอย่างน้อยในช่วงปีการศึกษาแรก ค่าใช้จ่ายของหอพักมักเรียกเก็บในอัตราต่อภาคการศึกษา และมีค่าอาหารแยกต่างหาก ซึ่งจะเรียกเก็บล่วงหน้าในช่วงเริ่มต้นปีการศึกษาหรือเริ่มต้นภาคการศึกษา สำหรับในเมืองขนาดใหญ่ นักศึกษาอาจเลือกที่พักของเอกชนที่อยู่นอกวิทยาเขตในอัตราที่เหมาะสมได้ โดยสัญญาเช่าที่พักส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามักรวมถึงการชำระค่าเช่าของเดือนแรกและเดือนสุดท้ายล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า "Security Deposit" หรือ "Cleaning Fee"

ที่พักนอกสถานศึกษา (Off Campus Housing)
คือ ทางเลือกหนึ่งด้านที่พักของนักศึกษาต่างชาติ แบ่งได้ ดังนี้
(1) Apartment มีหลายราคาหลายระดับ ราคาขึ้นอยู่กับสภาพ ลักษณะการตกแต่ง ทำเลที่ตั้ง การเข้าพักต้องทำสัญญาเช่ากับเจ้าของหรือบริษัทจัดหาที่พัก จึงต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไขเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ผู้เช่าควรจะศึกษาสัญญาให้เข้าใจเรียบร้อยก่อนเข้าพัก และต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น ๆ อย่างเคร่งครัด หากผิดสัญญาอาจถูกฟ้องร้องได้ ส่วนใหญ่สัญญาเช่าเป็นรายปี ผู้เช่าที่ย้ายออกก่อนเวลาที่ตกลงในสัญญา ต้องจ่ายค่าปรับ หรือต้องหาผู้มาเช่าช่วงต่อ ในกรณีนี้ต้องระมัดระวัง เพราะหากผู้เช่าช่วง ไม่จ่ายค่าเช่า ผู้เช่าเดิมต้องรับผิดชอบ

(2) Rooming House เป็นห้องเช่าซึ่งนักศึกษาอาจจะพักอยู่ในห้อง ๆ หนึ่ง โดยเจ้าของบ้านก็ร่วมอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันด้วย เจ้าของบ้านอาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนร่วมกับเจ้าของ บ้าน อุปกรณ์ครัวเรือน เช่น เครื่องครัว ตู้เย็น ฯลฯ Rooming House บางประเภทจะมีแต่นักศึกษาพักอยู่โดยไม่มีเจ้าของบ้านอยู่รวมด้วยก็ได้ โดยนักศึกษาแต่ละคนมีห้องพักเป็นสัดส่วนของตนเองคล้ายกับ Dormitory ผู้พักอาศัยใน Rooming House จะต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างร่วมกับผู้พักอื่น ๆ เช่น ใช้ครัวร่วมกันหรือห้องน้ำร่วมกันเป็นต้น และเมื่อมีเพื่อนมาค้างด้วยจะต้องเสียเงินพิเศษให้กับเจ้าของบ้านด้วย

(3) Family การจะเข้าพักกับ Family เป็นที่นิยมในบางประเทศ แต่ในสหรัฐฯ มักเป็นการเข้าพักระยะสั้น เช่น ช่วงเรียนภาษา แต่อย่างไรก็ดี ครอบครัวอเมริกันบางครอบครัวอาจรับนักเรียนเข้าพักอยู่ด้วยได้แบบระยะยาว การพักกับ Family นี้ ผู้เข้าพักจะเข้าไปอยู่คล้ายกับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนั้น ๆ และอาจต้องช่วยเหลือเจ้าของบ้านทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช่วยล้างจาน ทำความสะอาดบ้านบ้างในบางกรณี เพราะครอบครัวอเมริกันทั่ว ๆ ไป จะไม่มีคนใช้ทุกคนต้องช่วยกันทำเรื่องเหล่านี้ นักเรียนที่พักอยู่กับ Family จะต้องเสียเงินค่าเช่าตามที่ตกลงกันแต่ละ Family
การพักร่วมกับครอบครัวชาวอเมริกัน สถาบันการศึกษาจำนวนมากจะให้รายชื่อบริษัทที่มีบริการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการจัดหาที่พักในรูปแบบนี้ให้แก่นักศึกษาได้ ที่พักในรูปแบบนี้มักรวมถึงห้องพักส่วนตัว (หรือห้องพักร่วม) และอาหารเช้ากับอาหารเย็น ส่วนอัตราค่าที่พัก จะเรียกเก็บค่ามัดจำส่วนหนึ่ง และจ่ายชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนในช่วงต้นเดือนของแต่ละเดือน

(4) Fraternities Seniorities หรือ Clubs เป็นที่พักของสมาคมหรือสโมสรของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะอยู่ภายในตัวมหาวิทยาลัยหรือนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ ผู้จะเข้าพักได้จะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมนั้นๆ สถานที่พักชนิดนี้จะคล้ายกับ Dormitory มีแม่บ้านควบคุมดูแล และอยู่ร่วมกันเป็นระบบครอบครัว ซึ่งอาจจะมีการสังคม เช่น มีงานเต้นรำ มี Party ตอนสุดสัปดาห์ หรือมีการรับน้องใหม่บ้าง เป็นต้น

ที่พักชั่วคราว
สำหรับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งเดินทางถึงสหรัฐอเมริกาใหม่ ๆ อาจจำเป็นต้องหาที่พักชั่วคราว โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งยังไม่ได้จองหอพักไว้หรือมาถึงในช่วงที่หอพักยังไม่ เปิดให้พักอาศัย โดยสถานที่พักอาจเป็นโรงแรม หรือ Motel ก็ได้ สถานที่พักประเภทนี้ ราคาอาจจะสูง
นอกจากโรงแรมดังกล่าวแล้ว ที่พักชั่วคราวที่น่าสนใจ คือ
(1) Temporary Housing ของมหาวิทยาลัยจะเป็นรูปของโรงแรม หรือหอก็ได้
(2) หอพักของ YMCA หรือ YWCA ซึ่งผู้พักจะต้องเป็นสมาชิก และมีบัตรสมาชิกไปแสดงเวลาขอเข้าพัก
(3) Tourist House เป็นสถานที่พักคล้ายกับ Rooming House แต่จะเสียค่าเช่าเป็นรายวัน หรือรายอาทิตย์ และราคาไม่แพงนัก แต่ที่พักประเภทนี้อาจจะไม่มีห้องเป็นส่วนตัว บางครั้งจะเป็นห้องโถงใหญ่ ๆ มีเตียงหลายเตียงและพักรวมกัน

4. ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ
เช่น ของใช้ส่วนตัวในห้องน้ำ แสตมป์ หนังสือพิมพ์ และยารักษาโรคต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนของการซักรีด การซักแห้ง การเดินทาง สันทนาการ และสิ่งบันเทิงต่างๆ

5. ประกันด้านการแพทย์
หากเจ็บป่วยให้ใช้บริการของ Student Health Center ของสถานศึกษา โดยทั่วไปนักเรียนไม่ต้องเสียค่าบริการ (บางสถานศึกษาอาจคิดค่าบริการในราคาถูก) เพราะรวมอยู่ในค่าธรรมเนียมหรือค่าเล่าเรียนแล้ว SHC จะให้บริการรักษาพยาบาลกรณีโรคทั่ว ๆ ไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ท้องเสีย สำหรับกรณีเจ็บป่วยสาหัส หรือฉุกเฉิน แพทย์ประจำ SHC จะส่งตัวนักเรียนไปคลีนิคหรือโรงพยาบาลที่มีข้อตกลงกับบริษัทประกันสุขภาพ
หากนักเรียนมีโรคประจำตัว ให้ขอเอกสารทางการแพทย์ ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดของโรค ประวัติการรักษาพยาบาล และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแพทย์เจ้าของไข้หรือสถานพยาบาลไทยที่นักเรียนใช้บริการประจำ เพื่อแพทย์ในสหรัฐฯ จะได้ดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง

การประมาณค่าใช้จ่าย
เนื่องจากค่าใช้จ่ายของแต่ละรัฐจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับค่าครองชีพ ในแต่ละเมือง โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่ๆมัก จะแพงกว่าเมืองเล็กๆมาก หรืออาจจะ 2-3 เท่าเลยทีเดียว แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เมืองเล็กๆแต่เป็นเมืองท่องเที่ยวก็สามารถมีค่าครองชีพที่แพงได้ เราสามารถประเมินค่าใช้จ่ายต่อไปนี้เป็นค่าใช้จ่าย ที่จำเป็น แบ่งการใช้จ่ายออกเป็นสี่ส่วน ดังนี้

1. รายวัน
  • ค่ารถ bus และ subway โดยทั่วไปสำหรับนักเรียนเมื่อแสดงบัตรแล้วจะไม่ต้องเสียค่าโดยสารแต่อย่างใด รถจะมาค่อนข้างตรงเวลามากๆ สามารถนำจักรยานติดหน้ารถหรือท้ายรถ busได้โดยพนักงาน จะลงมาช่วยเรายก ในกรณีที่เราต้องการความช่วยเหลือ ในเมืองใหญ่ที่มี subway ก็จะสามารถซื้อตั๋ว transit ไปยังระบบอื่นได้
  • ค่าอาหาร อาหารสดจะมีขายในซุปเปอร์มาเก็ต ในสหรัฐจะไม่ค่อยมีตลาดสด (open air market)เหมือนบ้านเรา ที่นี่ร้านจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมงและอาหารสดจำพวกผัก เนื่อ หมู ไก่ นำผลไม้ นม จะราคาไม่แพงมากนักจะพอๆกับเมืองไทยเรา บางครั้งสามารถซื้อมาทำที่บ้านและเก็บไว้ทานได้หลายๆวัน ตามเมืองที่หนาวๆหน่อย อาหารจะเสียยาก สามารถเก็บไว้ได้นาน แต่อาหารจะเสียความชื้นค่อนข้างเยอะ ดังนั้นควรใช้พลาสติก wrap ปิดไว้ก่อนเก็บในตู้เย็น ค่าอาหารเฉลี่ยต่อวันก็ 5-10 เหรียญถ้าทานข้าวนอกบ้าน ในกรณีทึ่ทำกับข้าวทานเอง จะเซ็ฟเงินได้พอสมควร

2. รายเดือน
  • ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ สำหรับคนเดียว ก็ประมาณ 500 – 1000 เหรียญ โดยทั่วไปอพาร์ทเมนท์ก็จะมีตั้งแต่ studio, one-bed, two-bed มีครัวไว้ทำกับข้าวและห้องน้ำ ถ้าอยากอยู่ถูกๆหน่อย ก็ต้องหา shared house ซึ่งจะเป็นบ้านที่เจ้าของให้เช่าเป็นห้องๆไป อาจจะอยู่ใต้ดินก็ได้
  • ค่าน้ำปะปาส่วนใหญ่จะฟรี,ค่าไฟแล้วแต่ ประมาณ 30-50 เหรียญ (โดยทั่วไปจะรวมทั้งค่าไฟฟ้าและก็ค่าแก็สสำหรับเครื่องทำความร้อนไป ด้วย) ค่าเคเบิ้ลทีวี 30-60 เหรียญ (แล้วแต่จะเลือกตามความต้องการ)
  • ค่าโทรศัพท์บ้านเหมาจ่าย 20-30 เหรียญ ส่วนใหญ่จะโทรได้เป็นแบบ local call ภายใน area code นั้นๆ ผมว่าซื้อมือถือน่าจะสะดวกที่สุดนะครับ เพราะเกือบทั้งหมดจะโทรทั่วประเทศด้วย rate เดียวกัน (nationwide long distance) บางที่ให้เครื่องฟรีแต่เสียค่ารายเดือน หาดู deal ได้ตามร้าน Bestbuy หรือ shop ของ AT&T, Verizon, etc. ถ้าซื้อ iPhone หรือ Blackberry รายเดือนก็จะแพงมาก
  • ค่าอินเตอร์เน็ต 20 – 50 เหรียญแล้วแต่เทคโนโลยีและสปีด

3. รายเทอมการศึกษา
Estimated Average Costs for U.S. Colleges and Universities


  • ค่าเรียนจะแตกต่างกันในแต่ละสถาบัน สามารถศึกษารายเอียดค่าใช้จ่ายโดยประมาณจากตารางด้านบน
  • ค่าประกันสุขภาพโดยทั่วไปจะรวมอยู่ในค่าเรียนในแต่ละเทอมทั้งนี้ขึ้น อยู่กับ แต่ละสถาบัน บางสถาบันก็ให้นักเรียนติดต่อทำประกันสุขภาพเอง ตามกฏหมายแล้วต้องทำประกันสุขภาพด้วยก็ประมาณ 50-500 เหรียญ

4. อื่นๆ
  • รถยนต์มีตั้งแต่ 3000 เหรียญถึง 20000 เหรียญ อาจจะเป็นรถมือสองหรือรถใหม่ทั้งนี้ราคาจะบ่งบอกถึงสภาพของรถยนต์ด้วย นอกจากนั้นค่าประกันรถซึ่งจะต้องมีทุกคันไม่งั้นผิดกฏหมายโดยทั่วไปก็จะมี ตั้งแต่ 1200-2000 เหรียญต่อปี ขึ้นกับว่าจะเลือกแบบไหน full coverage หรือ liability สำหรับค่านำมันก็ประมาณ 10 เหรียญ ต่อสัปดาห์
  • จักรยานก็ประมาณ 50-200 เหรียญทั้งนี้หากต้องการจักรยานใช้แล้วก็มีหาจากประกาศตามบอร์ดต่างๆ 30-100 เหรียญตามสภาพ การใช้จักรยานก็ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศนั้นๆด้วย เห็นตอนนี้รถจักรยาน cruiser กำลังฮิต
  • คอมพิวเตอร์ PC/Laptop ต้องมีเพราะจำเป็นมากและราคาก็ไม่แพงไปกว่าในเมืองไทย ไม่จำเป็นต้องซื้อมาจากเมืองไทย หาซื้อได้ตามร้าน Bestbuy หรือร้าน online เช่น dell.com, lenovo.com ตอนนี้เห็นว่า Walmart กำลังรุกตลาดคอมพิวเตอร์และทำให้ราคาคอมพิวเตอร์ถูกลง

หมายเหตุ
ที่สหรัฐอเมริกาสินค้าที่เราซื้อมาสามารถคืนได้ภายในเวลาที่กำหนด 14 วันถึง 30 วันเพราะฉะนั้นรับประกันได้เลยว่าคุ้มกับเงินที่เราเสียไป ไม่ต้องเกรงใจครับว่าคนขายจะคิดยังไงกับเราเพราะคนขายเขาทำหน้าที่ของเขา อยู่แล้ว แต่ต้องเก็บหลักฐานในการซื้อไว้ด้วย เช่น สลิปและก็กล่องสินค้าพยายามทำให้อยู่ในสภาพเดิม
แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือ Electronics ต่างๆ อย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อาจจะมี restocking fee คือ อาจไม่ได้เงินคืนทั้งหมด

นอกจากนั้นสินค้าบางอย่างราคาถูกมากถ้ามี Mail in rebate แต่เราต้องจ่ายราคาเต็มไปก่อนแล้ว ก็เราส่งฟอร์ม mail in rebate ฟอร์ม ตามไปทีหลังเพื่อให้ส่งเงินส่วนลดคืนมา แต่อาจจะต้องรอหลายสัปดาห์กว่าจะได้เงินส่วนลด
..........................................................................................................................
เงินกู้ยืมและทุนการศึกษา
มีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยจำนวนน้อยมาก ที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่นักศึกษาต่างชาติได้ ดังนั้น นักศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบทางด้านการเงิน ในส่วนของค่าเล่าเรียน ค่าที่พักและอาหารเอง หรือในกรณีที่อาจได้รับทุนการศึกษา ก็จะครอบคลุมเพียงบางส่วนเท่านั้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมด อย่างไรก็ดี นักศึกษาอาจมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาเพิ่มมากขึ้นสำหรับการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี โดยสามารถติดต่อกับสถาบันการศึกษาโดยตรง
..........................................................................................................................
การทำงาน
ด้วยกฎข้อบังคับของวีซ่านักเรียน นักศึกษาจำเป็นต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ได้ ทั้งนี้ทำให้นักศึกษาต่างชาติไม่สามารถทำงานได้ในช่วงปีการศึกษาแรก และคู่สมรสก็ไม่สามารถทำงานได้เลยตลอดช่วงระยะเวลาที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นนักศึกษาจึงควรปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ปัจจุบันนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่านักเรียนแบบ F-1 อาจทำงานได้ถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภายในวิทยาเขตของสถาบันการศึกษาที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลก่อน อย่างไรก็ดีควรพึงระลึกไว้เสมอว่าโอกาสด้านการทำงานอาจไม่มีเพียงพอสำหรับนักศึกษาทุกคน ในกรณีที่สามารถหางานทำได้ รายได้ในส่วนนี้ก็อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ดังนั้น ควรพิจารณารายได้ส่วนนี้เป็นรายได้เสริมเท่านั้น
..........................................................................................................................
การหางานพาร์ททามทำในช่วง Summer
ประเทศสหรัฐอเมริกามีงานให้ทำเยอะ ไม่ว่าจะเป็นงานนอกมหาวิทยาลัยหรือในมหาวิทยาลัย แต่ผู้ที่ถือวีซ่านักเรียนโดยทั่วไปถ้าเป็นช่วงที่ไม่ใช่ summer จะสามารถทำได้เฉพาะงานในสถาบันการศึกษาได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในช่วง summer นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานได้ไม่จำกัดชั่วโมง อันนี้ขึ้นอยู่ว่าเราอยากได้เงินหรือหาประสบการณ์ ถ้าต้องการหาเงินก็เหมาะกับงานที่ไม่ได้ใช้ความคิดซึ่งก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าต้องการหาประสบการณ์ ก็ต้องคบหาสมาคมกับคนอเมริกันเยอะหน่อย เขาจะแนะนำเราได้ ถ้ามีความสามารถมากๆ ก็อาจจะขอ internship สมัครเป็นเด็กฝึกงานในบริษัทอเมริกัน ตรงนี้ก็คงต้องใช้ทักษะทางด้านภาษา พอสมควร แต่ค่าตอบแทนก็ได้ไม่น้อยเลย ประมาณ 15-25 เหรียญต่อชั่วโมง แถมยังได้ประสบการณ์การทำงานกับคนอเมริกันอีกด้วย ในช่วง Summer นักเรียนอาจจะหารายได้จากการทำงานได้มากถึง 2000 เหรียญต่อเดือน (หลังจากหักภาษีแล้ว ภาษีคำนวนแบบ อัตราก้าวหน้า ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ หรือ 10 เปอร์เซนต์แล้วแต่ทำเยอะไม่เยอะ ทำเยอะก็หักเยอะ ) ซึ่งถือว่าเป็นค่าตอบแทนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะถ้าขยันทำงานในช่วง Summer ซึ่งมีระยะเวลา 3 เดือนก็จะสามารถเก็บเงินไว้สำหรับเป็นค่าเทอม เทอมต่อไปได้สบายเลย ลักษณะงานจะเป็นงานทั่วไป เช่น ห้องสมุด เป็นแคชเชียร์ หรืองานคอมพิวเตอร์ โดยงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะได้เยอะกว่างานทั่วไป งานช่วง summer จะมีค่อนข้างเยอะ ซึ่งเด็กอเมริกันอาจจะไม่ค่อยทำกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ภาษาด้วย เพราะ ว่าเราต้องพรีเซนต์ตัวเองให้กับหัวหน้างาน เนื่องจากงานบางอย่างอาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับคนอเมริกันด้วย
..........................................................................................................................
การเตรียมเงินใช้จ่าย
ควรพกเงินสดติดตัว $200-$500 เพื่อใช้จ่ายระหว่างเดินทางและใช้จ่ายสองสามวันแรกที่เดินทางถึง โดยธนบัตรที่พกติดตัวควรเป็นธนบัตรย่อย ใบละเหรียญ ห้าเหรียญ สิบเหรียญ และควรพกเหรียญ 25 เซนต์ หรือเหรียญ 10 เซนต์ด้วย เผื่อใช้โทรศัพท์สาธารณะ
ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะพกเงินสดติดตัวจำนวนมาก หรือเงินสำหรับค่าใช้จ่ายรายการสำคัญ ๆ เช่น เงินค่าเล่าเรียน ค่ามัดจำที่พัก ควรจะซื้อเป็น draft หรือ traveler check หากสูญหาย จะได้สามารถสั่งอายัตได้
อย่าพกเงินสดไทยจำนวนมากเพื่อมาแลกเงินดอลล่าร์ในสหรัฐฯ เพราะหาที่แลกยาก หากหาได้ก็เสียเปรียบอัตราแลกเปลี่ยนมาก ให้พกเงินไทยเท่าที่จำเป็น เช่น กันไว้สำหรับค่าแท็กซี่ระหว่างสนามบินดอนเมืองกับบ้านในยามกลับไปเยี่ยมบ้าน
หากเป็นไปได้ ควรทำบัตร ATM จากธนาคารในเมืองไทย ประเภทที่สามารถเบิกเงินดอลล่าร์จากบัญชีเงินฝากในประเทศไทยผ่านตู้ ATM ในสหรัฐฯได้ เผื่อผู้ปกครองนำเงินเข้าบัญชีฯ ให้สามารถเบิกได้เมื่อถึงคราวจำเป็น
.........................................................................................................................
การจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง
  • ควรศึกษาข้อมูลจากสายการบินอย่างเคร่งครัดว่าสิ่งของใดที่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ สิ่งของใดต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบิน และสิ่งของใดที่โหลดลงใต้เครื่องบินได้แต่ห้ามนำถือขึ้นเครื่องบิน (ต้องไว้ในกระเป๋าที่ถ่ายเก็บไว้ใต้ท้องเครื่องบินเทานั้น) จำเป็นศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งของต้องห้ามนำเข้าสหรัฐฯ www.faa.gov
  • สิ่งที่ควรนำมาจากเมืองไทย ได้แก่ พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ หนังสือตำราเฉพาะทางที่หายาก สติกเกอร์แป้นพิมพ์อังกฤษ/ไทย (สำหรับผู้จะมาหาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐฯ) รูปถ่ายครอบครัวหรือญาติสนิท เพลงที่ชอบ เพลงไทยที่นิยมในเทศกาลประจำปี เช่น เพลงปีใหม่ เพลงสงกรานต์ เพลงลอยกระทง เป็นต้น ของชำรวยหรือของฝากประจำชาติ กล้องถ่ายรูป ยารักษาโรคประจำตัว เสื้อผ้าที่เพียงพอใส่ได้ระยะหนึ่ง สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ฯลฯ
  • สิ่งที่ไม่ควรนำติดตัว ได้แก่ เครื่องประดับราคาแพง หม้อหุงข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า (ระบบไฟที่นี่ใช้ 110 โวลท์ ส่วนที่บ้านเราใช้ 220 โวลท์) สิ่งที่ต้องห้ามนำเข้าสหรัฐฯ ได้แก่ วัตถุระเบิด ปืน มีด สิ่งมีคม ยาเสพติด อาหารหรือวัตถุดิบปรุงอาหาร อาทิ หมูแผ่น หมูหยอง ผลไม้สดทุกชนิด สัตว์เลี้ยง ยารักษาโรคที่ไม่มีใบสั่งจากแพทย์ ระวังอย่าพลั้งเผลอนำสิ่งของมีคมซึ่งอาจใช้เป็นอาวุธได้ เช่น กรรไกรตัดผม หรือมีดโกนหนวด ที่ตัดเล็บแบบมีตะไบ ใส่ในกระเป๋าถือติดตัว (Carry-On Bag) ถ้าจำเป็นต้องนำมาใช้ในสหรัฐฯ ให้ใส่ไว้ในกระเป๋าที่ถ่ายเข้าท้องเครื่องบิน
  • ในกรณีที่มีโรคประจำตัว และมีความจำเป็นต้องพกยาติดตัว ขอให้พกยาที่มีสลากยาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสะดวกแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งควรมีหนังสือจากนายแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นภาษาอังกฤษติดตัวมาด้วย
  • ของเล็ก ๆ กระจุกกระจิก ควรเก็บใส่ในถุงพลาสติกใสที่สามารถมองผ่านเห็นได้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองต้องการตรวจสอบ จะทำได้รวดเร็วขึ้น และสิ่งของจะได้ไม่กระจาย ส่วนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างเดินทาง ควรใส่ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง เช่น ปากกา ยาแก้เมาเครื่องบิน ยาดม ยาแก้ปวดหัว ถุงเท้า เสื้อกันหนาว หมอนหนุนคอ เป็นต้น นอกจากนี้เสื้อผ้าที่สวมใส่ระหว่างเดินทางควรเป็นชุดหลวมตัว ไม่รัดตัวเกินไป รองเท้าที่ถอดเข้าออกง่าย ๆ
  • เสื้อผ้าที่นำติดตัวมาจากไทยควรเป็นเนื้อผ้าที่มีใยฝ้ายผสม เนื้อผ้าไม่เปื่อยหรือขาดง่าย หาเสื้อผ้าที่ทนต่อการซักด้วยเครื่อง ซักแล้วใส่ ไม่ต้องรีด ไม่ยับมาก สำหรับเสื้อผ้าหน้าหนาว ควรหาซื้อที่สหรัฐฯ ยกเว้นผู้ซึ่งเดินทางมาหน้าหนาว ควรหาซื้อติดตัวอย่างน้อย 1 ชุด ส่วนที่เหลือให้มาซื้อเพิ่มเติมที่สหรัฐฯ
  • ควรติดป้ายชื่อของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของ International Students Office ของสถานศึกษาที่ท่านจะไปศึกษา หรือที่พักปลายทางไว้กับกระเป๋าเดินทางทุกใบ โดยให้ติดป้ายชื่อทั้งภายในและภายนอกกระเป๋า เผื่อกระเป๋าผลัดหลงแล้ว อาจได้คืนในภายหลัง นอกจากนี้ควรหาโบว์หรือริบบิ้นสีสดใส สังเกตง่าย ผูกติดกับกระเป๋าเดินทาง เพื่อง่ายต่อการสังเกตขณะไปรับกระเป๋า
  • ห้ามใส่กุญแจกระเป๋าเดินทางที่ต้องถ่ายขึ้นเครื่องโดยเด็ดขาด หากท่านมีของมีค่าใส่ในกระเป๋าเดินทาง และต้องการจะใส่กุญแจ ท่านจะต้องใช้กุญแจเฉพาะที่ได้รับรองจากองค์กรการบินระหว่างประเทศเท่านั้น (กุญแจนี้ จะเปิดได้เฉพาะเจ้าของกับ Security ของสนามบินเท่านั้น)
  • ระหว่างรอขึ้นเครื่องที่สนามบิน ไม่ควรละสายตาจากกระเป๋าเดินทาง เพราะอาจถูกขโมย หรืออาจมีผู้นำวัตถุผิดกฎหมายหรือสิ่งของต้องห้ามมาใส่ไว้ในกระเป๋าของท่าน ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง อนึ่ง สนามบินบางแห่งมีบริการให้เช่าตู้สำหรับเก็บกระเป๋าเดินทางชั่วคราวแบบไม่ ข้ามวัน ตู้เช่ามีขนาดไม่ใหญ่มาก ดังนั้น หากนักเรียนต้องหยุดพักรอเครื่องบินเป็นเวลานาน ก็อาจใช้บริการตู้เช่า เพื่อมิต้องคอยระวังกระเป๋าตลอดเวลาได้

จำนวนและขนาดกระเป๋าเดินทาง


กระเป๋าเดินทางและสัมภาระ ควรศึกษาหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ของสายการบิน ตัวแทนจำหน่าย หรือเวปไซต์ของสายการบิน ว่าอนุญาตให้นำกระเป๋าเดินทางมากี่ใบ แต่ละใบมีบรรจุแล้วหนักได้ไม่เกินเท่าใด ถ้าน้ำหนักเกินจะต้องเสียค่าปรับในอัตราใด
แต่ละสายการบินจะมีนโยบายเรื่องจำนวนและขนาดกระเป๋าที่แตกต่างกันตามประเภท ของชั้นผู้โดยสาร โดยปกติ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (First Class) จะได้สิทธินำกระเป๋าขึ้นเครื่องโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากกว่ากับผู้ โดยสารชั้นธุรกิจ (Business Class) ในทำนองเดียวกัน ผู้โดยสารชั้นธุรกิจก็ได้สิทธิมากกว่าผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy Class)
โดยทั่วไป ผู้โดยสารชั้นประหยัดเที่ยวบินระหว่างสหรัฐฯ และไทย มีสิทธินำกระเป๋าขึ้นเครื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
  • กระเป๋าใบใหญ่ (Luggages) ที่เก็บไว้ในท้องเครื่องบิน ไม่เกิน 2 ใบต่อคน แต่ละใบต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม (44 ปอนด์)
  • กระเป๋าถือ (Carry-On Bag) 1 ใบ ขนาดกว้าง ยาว หนารวมกันไม่เกิน 45 นิ้ว (ขนาดมาตรฐานทั่วไป คือ 22 x 14 x 9)
  • ของกระจุกกระจิกส่วนตัว ที่อนุญาตให้ถือขึ้นเครื่อง ได้แก่ กระเป๋าเอกสาร (Briefcase) กล้องถ่ายรูป กล้องวีดิโอ กระเป๋าถือสุภาพสตรี กระเป๋าคอมพิวเตอร์ หนังสือหรือเอกสารสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามควรตรวจสอบกับสายการบิน ก่อนจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง เพราะจำนวน ขนาด และน้ำหนักของกระเป๋าข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับสายการบิน เที่ยวบิน และชั้นผู้โดยสาร
นอกจากนี้ให้คำนึงถึงขีดความสามารถในการลากเข็นหรือยกกระเป๋าของตนเอง โดยเฉพาะถ้าไม่มีผู้มารับท่านที่สนามบิน ท่านผู้มีร่างกายผอมบาง เล็กกะทัดรัด กรุณาอย่านำของมาเต็มพิกัด เพราะท่านจะประสบปัญหาอย่างมากในการลากเข็นหรือยกกระเป๋าในระหว่างที่ต่อ เครื่องบินจากระหว่างประเทศเป็นภายในประเทศ หรือระหว่างเครื่องบินในประเทศเป็นรถไฟหรือรถประจำทาง เพื่อเดินทางไปสถานศึกษา ยิ้มหวาน ๆ ไม่อาจดลใจให้คนมาช่วยท่านขนกระเป๋า ยกเว้นทิปหนัก ๆ เท่านั้น
..........................................................................................................................
ด่านตรวจคนเข้าเมือง
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบ ได้แก่
  • หนังสือเดินทาง (Passport)
  • วีซ่า (VISA) ที่ประทับในหนังสือเดินทาง
  • I-20 หรือ DS-2019
  • หนังสือรับรองการเงิน (Financial Resource Statement)
  • หนังสือตอบรับเข้าศึกษา (Letter of Acceptance)
  • จดหมายปิดผนึกที่ได้รับจากสถานกงสุลสหรัฐฯ ในประเทศไทย เมื่อตอนได้รับอนุมัติวีซ่าเข้าประเทศ อย่าเปิดจดหมายดังกล่าวเองโดยเด็ดขาด
  • แบบบันทึกวันเข้า-ออกสหรัฐฯ (I-94) และแบบแสดงรายการที่ต้องเสียภาษีศุลกากร (Customs Declaration Form) เป็นแบบฟอร์มที่ได้รับแจกจากเจ้าหน้าที่สายการบินขณะอยู่บนเครื่องบิน ขอให้ท่านกรอกข้อความตามจริง หากมีคำถามให้สอบถามเจ้าหน้าที่ของสายการบินทันที (หากท่านไม่ได้รับแจก อาจเนื่องจากหลับอยู่ขณะที่มีการแจก ให้ขอจากเจ้าหน้าที่สายการบิน)
  • เอกสารสำคัญอื่นๆ ที่อาจเตรียมติดตัวไว้ ได้แก่
  • ใบตรวจสุขภาพ (Immunization Certificate)
  • ใบขับขี่ต่างชาติ (International Driver’s License)
  • ทะเบียนสมรส
  • ใบแจ้งเกิด
เอกสารสำคัญข้างต้น ให้พกติดตัวหรือใส่ไว้ในกระเป๋าถือ (Carry-On Bag) อย่าใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทาง (Luggages) โดยเด็ดขาด เพราะเอกสารนี้จะต้องใช้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่ท่านจะมีสิทธิออกไปเอากระเป๋าเดินทาง
เมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง (Port of Entry) ขอให้เตรียมเอกสารสำคัญดังกล่าวข้างต้นให้พร้อม และเข้าแถวรอเรียกจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Officer)
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสำคัญ เจ้าหน้าที่จะสอบถามวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้าสหรัฐฯ อเมริกา สำหรับนักเรียนผู้มาศึกษาต่อ ขอให้ตอบ “To attend [name of school] in [name of city, state]” และอาจมีคำถามอื่นเพิ่มเติม
..........................................................................................................................
ด่านศุลกากร
หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ให้ไปรอรับกระเป๋าเดินทาง หลังได้กระเป๋าเดินทาง ให้เดินไปผ่านด่านศุลกากร และยื่น Customs Declaration Form ต่อเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร
  • ของฝากของที่ระลึก มูลค่าไม่เกิน $100 ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร
  • การนำเงินสดเข้าหรือออกจากสหรัฐอเมริกามูลค่าเกินกว่า $10,000 ต้องรายงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร
  • อย่าเอาของต้องห้ามเข้าสหรัฐฯ เพราะท่านอาจถูกจำคุก ส่งตัวกลับ หรือถูกปรับ แล้วแต่กรณี เคยมีนักเรียนนำอาหารต้องห้ามนำเข้า และถูกปรับ แต่ไม่มีเงินจ่าย ต้องถูกกักตัว ทำให้พลาดเปลี่ยนต่อโดยสารเครื่องบิน
..........................................................................................................................

No comments:

Post a Comment