December 26, 2009

ระบบการศึกษาในแคนาดา

ระบบการศึกษา
ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ ได้กำหนดให้แต่ละมณฑลเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของนโยบาย และระบบการศึกษาเอง ดังนั้น ระบบการศึกษาของแต่ละมณฑลจึงมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ทุกมณฑลจะมีมาตรฐานการศึกษาที่สูงใกล้เคียงกัน ซึ่งรับรองโดยรัฐบาลแคนาดา การศึกษาภาคบังคับที่ควบคุมดูแลโดยแต่ละมณฑล จะเป็นการเรียนฟรี โดยภาครัฐจะมีเงินสนับสนุนที่ได้มาจากงบประมาณจากภาษีท้องถิ่น สำหรับสถานศึกษาจะมีทั้งของรัฐและของเอกชน โดยการศึกษาภาคบังคับจะมีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงระดับมัธยมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย โดยทั่วไป เด็กๆ จะเริ่มเรียนเมื่ออายุ 4 หรือ 5 ปี และเรียนจนถึงอายุ 15-16 ปี แล้วแต่เกณฑ์ของแต่ละมณฑลสำหรับภาษาส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศแคนาดา มี 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ถ้านักเรียนมีปัญหาในเรื่องภาษา ก็จะมีการอบรมก่อนด้วย สำหรับที่ Quebec ผู้ที่เข้ามาใหม่ส่วนใหญ่ จะต้องศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนภาษาก่อน
..........................................................................................................................
1.ระดับอนุบาล
โรงเรียนอนุบาลจะดำเนินงานโดยหน่วยงานด้านการศึกษาของท้องถิ่น ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี เพื่อเป็นการเตรียมเข้า Grade 1 ส่วนใหญ่แล้ว เด็กชาวแคนาดา จะเข้าเรียนอนุบาลได้ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี โดยไม่นับเป็นการศึกษาภาคบังคับ
..........................................................................................................................
2.ระดับประถมศึกษา
หลังการศึกษาระดับอนุบาล เด็กชาวแคนาดาจะเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับ ระดับประถมศึกษา เรียกว่า Grade 1 และเรียนจนถึง Grade 6 หรือ 8 (ขึ้นกับระบบของแต่ละมณฑล) โดยภาคบังคับนี้ จะเริ่มที่อายุประมาณ 6-16 ปี มีบางกรณีที่ภาคบังคับ เริ่มต้นที่อายุ 5 ปี และบางกรณีที่ขยายภาคบังคับได้ถึงอายุ 18 ปี โดยเกือบทั้งหมดจะกำหนดให้ระดับประถมศึกษาครอบคลุมการเรียน 6-8 ปี หลักสูตรของประถมศึกษาจะเน้นหนักในเรื่องพื้นฐานของวิชาเลขคณิต ภาษา สังคม วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ปีการศึกษาจะเริ่มต้นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนมิถุนายน
..........................................................................................................................
3.ระดับมัธยมศึกษา
โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาระดับนี้จะครอบคลุมเวลาเรียน 4-6 ปี ที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยหลักสูตรจะเป็นวิชาบังคับในปีแรกๆ และเพิ่มวิชาเลือกมากขึ้นในปีหลังๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและตัวนักเรียนเอง หรือเพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่โดยรวมแล้วจะใช้เวลาเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเท่ากับ 12 ปี ยกเว้นที่ Quebec และที่ Ontario จะมีระบบชั้นมัธยมศึกษาเพิ่มอีก 1 ปี รวมเป็นเวลาเรียน 13 ปี และการจบการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมที่ เกรด 11,12 หรือ 13 โรงเรียนมัธยมของแคนาดามีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนจะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ของแต่ละมณฑลด้วย โรงเรียนรัฐบาลเกือบทั้งหมดเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา โดยนักเรียนต่างชาติจะมีหลักสูตรภาษาอังกฤษรองรับด้วย สำหรับเงื่อนไขการรับนักเรียนต่างชาติ ขึ้นอยู่กับนโยบายของกรรมการแต่ละมณฑล ส่วนโรงเรียนเอกชนมีทั้งแบบ หญิงล้วน ชายล้วน และสหศึกษา และมีทั้งโรงเรียนแบบประจำ และไป-กลับ โดยโรงเรียนเอกชนทุกแห่งจะดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการในมณฑลนั้นๆ และกระทรวงจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรและมาตรฐานการเรียน การสอนทั้งหมด
..........................................................................................................................
4.ระดับอุดมศึกษา
เป็นการศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัย ซึ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศแคนาดานับว่าเปิดกว้างมาก และมีสถาบันการศึกษามากมายหลายประเภท ทั้งที่เป็นของรัฐ และเอกชน เช่น มหาวิทยาลัย University College วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยฝึกอาชีพสถาบันการศึกษาของแคนาดาเป็นที่ยอมรับ และรู้จักกันดีในระดับสากล ในด้านมาตรฐานการศึกษา และงานวิจัยที่มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับว่ามาตรฐาน การศึกษาเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกา และสหราชอาณาจักร หลักสูตรที่เปิดสอน จะมีหลากหลายสาขาวิชามากมาย ทั้งหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นๆ หลักสูตรประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียน และเกณฑ์ในการรับนักศึกษาเข้าเรียน ขึ้นอยู่กับแต่ละมณฑล หลักสูตรและสถาบัน
..........................................................................................................................
มหาวิทยาลัย
ประเทศแคนาดามีมหาวิทยาลัยทั้งหมดรวม 90 แห่ง เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามที่ต้องการ ทั้งในเรื่องของที่ตั้งและขนาด หลักสูตรการเรียนที่เปิดสอน มีตั้งแต่ในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ประกาศนียบัตร และหลักสูตรวิชาชีพ ปีการศึกษาโดยปกติของแคนาดาจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนพฤษภาคม โดยแบ่งเป็น 2 หรือ 3 ภาคการศึกษาแล้วแต่มหาวิทยาลัยจะกำหนด และอาจมีภาคฤดูร้อนด้วย และเนื่องจากประเทศแคนาดาไม่มีระบบการสอบเอ็นทรานซ์ แต่ละมหาวิทยาลัย จึงทำการกำหนดนโยบายการรับนักศึกษา และพิจารณาคัดเลือกเอง

  • ปริญญาตรี
คุณสมบัติหลักๆที่สถาบันใช้ประเมินเพื่อรับนักศึกษาเข้าเรียนคือเกรดเฉลี่ยจากมัธยมปลาย คือ GPA 3.0 ขึ้นไป และ TOEFL 550-600 คะแนน หรือ IELTS 6.5-7.0 หรือ CAEL70% สำหรับระยะเวลาการศึกษาระดับปริญญาตรีจะแตกต่างกันไปในแต่ละมณฑล ในแคนาดาจะมีหลักสูตรปริญญาตรี 2 แบบ คือแบบ General Pass Degrees จบภายใน 3 ปี และแบบ Honours Degrees ซึ่งจะเรียนเพิ่มอีก 1ปี เพื่อให้มีหน่วยกิตมากเพียงพอ และจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์ เพื่อไปต่อปริญญาโท หลักสูตร Honours Degrees จึงใช้เวลาศึกษามากกว่า 1 ปีขึ้นไป แต่มีบางมหาวิทยาลัย ที่หลักสูตรทั้งสองใช้เวลาศึกษาเท่ากัน คือ 4 ปี ยกเว้นบางสาขาต้องมีการฝึกงานด้วย หลักสูตรก็จะใช้เวลาศึกษา 5ปี ได้แก่ สาขาบัญชี สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมนอกจากนี้ยังอาจมีบางสาขาวิชาที่เป็นหลักสูตรปริญญาวิชาชีพจะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าเรียน จึงไม่เปิดรับนักศึกษาต่างชาติในระดับปริญญาตรี เช่น สาขาแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่ไม่มีข้อจำกัดสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ตั้งแต่ระดับปริญญาโทขึ้นไป
  • ปริญญาโทและปริญญาเอก
การศึกษาระดับปริญญาโท โดยทั่วไป ใช้เวลาเรียน 2 ปี ต่อจากปริญญาตรี ทั้ง 2แบบ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนเป็นแบบ Course work คือฟังบรรยายและเขียนรายงาน หรือเลือกทำวิทยานิพนธ์และสอบประมวลความรู้ ( Comprehensive Examination) ในการพิจารณารับนักศึกษา สถาบันศึกษาจะดูจากคะแนนเฉลี่ยสะสม GPA ประมาณ 2.5-3.0 หรือใกล้เคียง และคะแนน TOEFL ประมาณ 550-600 ถ้าในกรณีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ตามที่ทางสถาบันกำหนด นักศึกษาสามารถสมัครเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เช่น หลักสูตร Pre MBA หรือการลงทะเบียนเรียนแบบไม่เอาเกรด (Audit) เพื่อปรับพื้นฐาน หรือลงเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตร(Graduate Certificate) หรือ หลักสูตรอนุปริญญาโท (Graduate Diploma) เพื่อใช้โอนหน่วยกิตในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทได้ โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับสาขานั้นๆสำหรับปริญญาเอก ใช้เวลา 3-5 ปี ในการศึกษา ทำรายงานวิจัย และทำวิทยานิพนธ์ สำหรับหลักสูตรวิชาชีพควบคุม เช่น กฎหมาย แพทยศาสตร์ ครุศาสตร์ และสังคมสงเคราะห์ จะต้องผ่านช่วงระยะการฝึกหัดด้วย เพื่อนำไปขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
..........................................................................................................................
University College
โดยทั่วไป หลักสูตรการเรียนการสอนของ University College จะใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย แต่จะเน้นปฏิบัติ โดยหลักสูตรจะมีทั้งประกาศนียบัตร และอนุปริญญาซึ่งสามารถใช้โอนเทียบเข้าต่อมหาวิทยาลัยได้ โดยปกติ University College และวิทยาลัยชุมชนจะเปิดหลักสูตรเทียบโอนหน่วยกิต เพื่อเข้าต่อมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้น นักศึกษาจะต้องพิจารณาหลักสูตรที่จะเลือกเรียนด้วยว่า สามารถเข้าต่อในมหาวิทยาลัยได้ ส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนจะมีให้เลือกหลากหลายและกว้างมาก โดยเฉพาะทางด้านวิชาชีพสาขาต่างๆเฉพาะใน Quebec จะมี CEGEPS (colleges d'enseignement general et professionnel) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรใน 2 รูปแบบคือ หลักสูตรสายอาชีพ (Vocational) ระยะเวลา 3 ปี และหลักสูตรก่อนการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (Pre-University) ระยะเวลา 2 ปี
..........................................................................................................................
วิทยาลัยชุมชน(Community College)
วิทยาลัยชุมชน เป็นทางเลือกหนึ่งของการศึกษาที่ได้รับความนิยมในประเทศนี้ วิทยาลัยเหล่านี้เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพ และช่างเทคนิค ซึ่งจะใช้เวลาศึกษา 1 – 3 ปี แล้วแต่หลักสูตร (ส่วนใหญ่จะรวมช่วงเทอมการทำงานด้วย) ส่วนมากจะเป็นสาชาวิชาชีพสำคัญๆ เช่น การก่อสร้าง อุตสาหกรรม พาณิชย์ ช่างเทคนิคทุกด้าน รวมทั้งด้านสาขาธุรกิจต่างๆ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ศิลปประยุกต์สาขาต่างๆ เทคโนโลยีและสังคมสงเคราะห์ และด้านงานบริการ ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงาน และจะมีการปรับหลักสูตรไปตามตามสภาพความต้องการของตลาดเสมอ บางสาขาจะเปิดรับหลักสูตรโอนหน่วยกิตเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยนักศึกษาจะศึกษาวิชาของสองปีแรกในวิทยาลัย แล้วสมัครเข้าเรียนโดยโอนหน่วยกิตไปต่อ 2 ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย
..........................................................................................................................
วิทยาลัยฝึกอาชีพ (Career Colleges)
เป็นสถาบันศึกษาที่เปิดสอนอบรมสาขาวิชาชีพเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตามความต้องการของตลาด และภาคอุตสาหกรรม โดยชาวแคนาดาเองเมื่อจบมัธยมปลายแล้ว มักจะเรียนต่อในสถาบันวิชาชีพเฉพาะเหล่านี้ และจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งเพียงพอและเป็นที่ยอมรับในการเข้าทำงานในแคนาดาอยู่แล้ว นักศึกษาแคนาดาส่วนใหญ่ไม่นิยมเรียนต่อปริญญาตรี นอกจากผู้ที่ต้องการจะเข้าทำงานในหน่วยงานด้านวิชาการ จึงจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และปริญญาโท การศึกษาในสถาบันฝึกอาชีพนี้ จะเน้นการฝึกทำงานจริงเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพที่ต้องการ
..........................................................................................................................
โรงเรียนสอนภาษา (Language School)
เนื่องจากภาษาราชการที่ใช้ในประเทศแคนาดามี 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส แต่ประชากรส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่า ยกเว้นบางมณฑล เช่น ในควิเบกประชากรจะพูดภาษาฝรั่งเศสมากกว่า ดังนั้น โรงเรียนสอนภาษาจึงมีหลักสูตรสอนภาษาหลักๆ 2 ภาษานี้ หลักสูตรสอนภาษาสำหรับชาวต่างชาติ เรียกว่า ESL ( English as a Second Language) และสอนภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาที่สอง เรียกว่า FSL (French as a Second Language) ประเภทของหลักสูตรมีทั้งแบบทั่วไป หรือเป็นหลักสูตรเฉพาะเพื่อเข้าศึกษาต่อ หรือ ภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ โดยทั่วไป หลักสูตรภาษาทั้งสองอย่างจะเปิดสอนตามวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่การเรียนภาษาของโรงเรียนรัฐบาลจะยากกว่า และมีมาตรฐานสูงกว่าโรงเรียนเอกชน และมีการกำหนดวันเริ่มเรียนและคุณสมบัติผู้เข้าเรียน แต่โรงเรียนของเอกชน จะยืดหยุ่นกว่า โดยสามารถเข้าเรียนได้ตลอดปี และมีหลักสูตรให้เลือกมากกว่า โดยทั่วไปหลักสูตรเรียนภาษาจะมีตั้งแต่ 2-3 เดือนหรือมากกว่า
..........................................................................................................................
ประมาณการค่าเล่าเรียนต่อปี (CAD)



..........................................................................................................................
ค่าใช้จ่าย
เนื่องจากค่าครองชีพของแคนาดาอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ทำให้การศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา มีความน่าสนใจและประหยัดได้มากกว่า แต่โดยทั่วไปแล้ว นักศึกษาควรตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมตลอดช่วงระยะเวลาการศึกษา ซึ่งโดยเฉลี่ยควรตั้งงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมค่าครองชีพโดยประมาณ CAD 12,000 – CAD 15,000 ต่อปี ซึ่งจะรวมถึง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ
..........................................................................................................................

No comments:

Post a Comment