December 26, 2009

การขอวีซ่าประเทศสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการขอวีซ่า

1. SEVIS (ซี-วิส) I-20(Student Exchange and Visitor Information System)
แบบฟอร์ม I-20 เป็นเอกสารสำคัญที่นักศึกษาต้องใช้ในการยื่นขอวีซ่านักเรียนแบบ F-1 โดย I-20 เป็นเอกสารการตอบรับเข้าศึกษาที่สถาบันการศึกษา เป็นผู้ออกให้ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ของนักศึกษา ตั้งแต่ชื่อสถาบันการศึกษาพร้อมที่อยู่ ชื่อหลักสูตร ระยะเวลาของหลักสูตร วันเริ่มต้นและวันสำเร็จหลักสูตร ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ จนถึงเงื่อนไขเพิ่มเติม (ถ้ามี) ในเอกสารจะมีลายเซ็นของผู้มีอำนาจลงนามของสถาบัน พร้อมวันที่ที่ออกเอกสาร และนักศึกษาจะต้องเซ็นชื่อของตนเอง และลงวันที่ตรงที่ที่เว้นไว้ให้ ก่อนนำเอกสารนี้ไปยื่น เพื่อขอวีซ่า

เอกสาร I-20 ในปัจจุบัน ทางการสหรัฐฯได้ใช้ระบบใหม่ในการออกเอกสาร I-20 เรียกว่า SEVIS I-20 ซึ่งจะมีหมายเลขประจำตัวกำกับพร้อม Barcode ทางการสหรัฐฯ ทำระบบ SEVIS ขึ้นมาใช้เพื่อต้องการให้เกิดความสะดวก ในการติดตามตัวผู้เดินทางเข้ามายังประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยวีซ่านักเรียน ทั้งนี้เมื่อสถาบันการศึกษาทำการตอบรับนักเรียนแล้ว ทางสถาบันจะต้องออกแบบฟอร์ม I-20 ผ่านระบบ SEVIS นักศึกษา และผู้ติดตาม จะเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนวันเปิดเรียนได้ ไม่เกิน 30 วัน ส่วน I-20 ที่ออกมาก่อนการบังคับใช้ระบบ SEVIS นั้น ไม่สามารถใช้ในการยื่นขอวีซ่าได้แล้วในปัจจุบัน

..........................................................................................................................

2. ค่าธรรมเนียม SEVIS
ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2008 เป็นต้นไป US Department of Homeland Security (DHS) ได้ออกข้อกำหนดให้ ผู้สมัครวีซ่าประเภท F-1,M1 และ J-1 ชำระค่า ธรรมเนียม SEVIS Fee ด้วยอัตราใหม่ ซึ่งเป็นการชำระเพียงครั้งเดียว ซึ่งชำระแยกต่างหากจากค่าธรรมเนียมในการยื่นขอวีซ่า

ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ชำระได้ทางไปรษณีย์หรือผ่านทาง Internet เท่านั้น และชำระโดยนักศึกษา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่นเพื่อน ญาติ บริษัทตัวแทน หรือสถาบันการศึกษา แผนกวีซ่าจะไม่ดำเนินการนัดสัมภาษณ์ให้กับผู้ที่ยื่นขอวีซ่าจนกว่าจะได้ชำระค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ และ DHS ได้รับค่าธรรมเนียมในส่วนนี้แล้ว

นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ให้กับ DHS ล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วันทำการ ก่อนวันที่ ต้องการยื่นขอวีซ่า การชำระสามารถกระทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้:

1) ทางอินเตอร์เน็ต
• ให้ไปที่ www.fmjfee.com
• กรอกแบบฟอร์ม I-901 ซึ่งเป็นแบบฟอร์ม "Fee Remittance for Certain F, J, and M Nonimmigrants"
• กรอกข้อมูลเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียม SEVIS Fee จำนวน US $ 200

สำหรับวีซ่าแบบ F และ M ส่วนวีซ่าแบบ J จะต้องชำระค่า SEVIS เท่ากับ US $ 180 โดยบัตรเครดิต และใช้เป็นเอกสารในการอ้างอิง โดยนักศึกษาต้องใช้ใบเสร็จนี้เป็นหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมที่สถานทูต แผนกวีซ่า หรือที่จุดตรวจคนเข้าเมืองการชำระค่าใช้จ่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตเป็นขั้นตอนที่ดำเนินการในทันที ดังนั้น นักศึกษาจะสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จจากคอมพิวเตอร์ได้เลย

2) ทางไปรษณีย์
• ขอแบบฟอร์ม I-901 ซึ่งสามารถขอรับได้จาก www. fmjfee.com หรือโทรไปที่ 1-800-870-3676 (ในสหรัฐอเมริกา)
• กรอกแบบฟอร์ม I-901
• แนบเช็ค หรือเอกสารสั่งจ่ายเงินระหว่างประเทศ (international money order) หรือแบงค์ดร๊าฟ (ที่สั่งจ่ายธนาคารของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น) ในจำนวน US $ 200 หรือ 180 โดยสั่งจ่าย"I-901 Student/Exchange Visitor Processing Fee"
• กรอกข้อมูลชื่อนักศึกษาให้ตรงกับที่ปรากฏในแบบฟอร์ม I-20 หรือแบบฟอร์ม DS-2019
• จัดส่งแบบฟอร์ม I-901ที่กรอกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว พร้อมเอกสารการชำระค่าธรรมเนียมไปทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ปรากฏ ในแบบฟอร์ม I-901
• แบบฟอร์ม I-797 Receipt Notice ซึ่งเป็นเอกสารใบเสร็จจะได้รับการจัดส่งทางไปรษณีย์ไปที่นักศึกษาภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียม แต่ในกรณีชำระทางไปรษณีย์ อาจต้องใช้เวลาถึง 4-6 สัปดาห์กว่าทาง DHS จะได้รับเอกสารและจัดส่งใบเสร็จกลับมาให้กับนักศึกษา ดังนั้นจึงแนะนำให้นักศึกษา หรือบริษัทตัวแทน ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต

ในกรณีมีปัญหาใดๆ สามารถติดต่อและขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fmjfee.com
..........................................................................................................................

3. แบบฟอร์ม DS-2019
เป็นเอกสารในการยื่นขอวีซ่านักเรียนประเภท J-1 เหมือน I-20 แต่ DS-2019 เป็นเอกสารของนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยน นักเรียนทุน ดูงานหรือฝึกอบรมตามคำเชิญของหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงนักศึกษาทุนทั้งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลไทย สถาบันการศึกษาต่างๆ องค์กร/บริษัทที่สนับสนุนด้านการแลกเปลี่ยนต่างๆ และผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อเป็น ผู้บรรยาย นักวิจัย

..........................................................................................................................

4. แบบฟอร์ม DS-156 / DS-157/ DS-158

ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการยื่นขอวีซ่านักเรียนไปสหรัฐอเมริกา ต้องกรอกใบคำร้องหรือแบบ ฟอร์ม DS-156/ DS-157/ DS-158 แบบ online และเมื่อกรอกข้อมูล ครบถ้วนแล้ว ต้องสั่งพิมพ์เพื่อแนบไปกับแบบฟอร์มหรือเอกสารอื่นๆ ในวันที่ยื่นขอวีซ่าที่สถานทูต

สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่างๆได้ที่ http://www.state.gov/m/a/dir/forms

..........................................................................................................................

5. แบบฟอร์ม I-94 หรือเอกสารบันทึกการเข้า-ออกประเทศ

เป็นเอกสารที่ได้รับบนเครื่องบิน เพื่อให้ทุกคนกรอก และยื่นให้กับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเข้าประเทศ สหรัฐอเมริกา เอกสาร I-94 จะมีตัวเลข 11 หลัก ซึ่งเป็นตัวเลขที่กองตรวจคนเข้าเมือง ใช้ตรวจสอบการเข้า-ออกประเทศแต่ละครั้งของผู้เดินทาง ถ้าต้องการอยู่ต่อ ผู้เดินทางต้องยื่นขออนุมัติต่ออายุการอยู่ในประเทศก่อน ถ้าไม่มีวันที่เขียนไว้ในเอกสาร I-94 อาจมีตัวหนังสือ D/S บันทึกไว้ซึ่งย่อมาจาก duration of status ซึ่งอนุญาตให้ผู้เดินทาง พำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ตามระยะเวลาที่ศึกษาในหลักสูตร ตราบที่หนังสือเดินทางยังมีอายุอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากนี้ บันทึก D/S ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงการอนุญาตในการทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา ถ้านักศึกษาต้องการอยู่ในประเทศต่อเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรอื่นๆ เช่น ศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลังจากสำเร็จการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรี นักศึกษาต้องยื่นเอกสารเพื่อขอต่ออายุอย่างน้อย 60 วัน ก่อนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรแรก สำหรับผู้ที่ถือวีซ่า J-1 จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศตามระยะเวลาที่จำเป็นต่อการศึกษาในหลักสูตร และสำหรับ ผู้ที่ถือวีซ่า M-1 จะได้รับอนุญาตให้อยู่ใน ประเทศระยะหนึ่ง แต่ไม่เกิน 1 ปี ถ้าต้องการอยู่นานกว่านั้น นักศึกษาต้องยื่นขออนุญาตอยู่ต่อ

..........................................................................................................................

ประเภทของวีซ่า
วีซ่า F-1
เป็นวีซ่าสำหรับนักเรียนโดยทั่วไป ที่ลงทะเบียนเรียนแบบเต็มเวลาหรือ Full-Time ทั้งกับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม หรือสถาบันสอนภาษา เอกสารสำคัญในการยื่นวีซ่าแบบ F-1 คือฟอร์ม I-20 จากสถาบันการศึกษา แต่การมี I-20 ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า สถานทูตจะพิจารณาให้วีซ่านักเรียน แก่ผู้ที่ยื่นคำร้องขอวีซ่า
วีซ่า M-1
เป็นวีซ่าสำหรับนักเรียนทั่วไปคล้ายกับแบบ F-1
แต่แบบ M-1 จะเป็นนักเรียนที่เข้ามาศึกษาแบบสายวิชาชีพ หรือเรียนภาษาในช่วงเวลาสั้นๆ โดยจะต้องลงทะเบียนเรียนแบบ Full Time คือแบบเต็มเวลากับสถาบัน การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับนักเรียนแบบ F-1
วีซ่า J-1
เป็นวีซ่าสำหรับผู้ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนหรือ “Exchange Program” รวมถึงผู้ที่ไปศึกษาดูงาน หรือฝึกอบรมตามคำเชิญของหน่วยงาน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาทั้งจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทย สถาบันการศึกษาต่างๆ องค์กร/บริษัท ที่สนับสนุนด้านการแลกเปลี่ยนต่างๆ และผู้ที่เข้ามาเป็นผู้บรรยาย นักวิจัย หรือผู้เข้ารับการฝึกอบรม เอกสารที่ใช้และขั้นตอนในการยื่นขอวีซ่าประเภท J-1 จะเหมือนกับวีซ่าประเภท F-1 เป็นส่วนมาก ยกเว้นผู้ที่ยื่นวีซ่า ต้องยื่นแบบฟอร์มDS-2019 ที่ออกให้โดยหน่วยงานหรือสถาบันที่รับท่านเข้าโครงการแลกเปลี่ยนแทน I-20 และต้องกรอกข้อความและเซ็นชื่อด้านหลังของหน้า 1 และหน้า 3 ของแบบฟอร์ม DS-2019 ให้สมบูรณ์
วีซ่าผู้ติดตาม (F-2, J-2,M-2)
เป็นวีซ่าสำหรับคู่สมรส และ/บุตร หรือผู้ติดตาม โดยผู้ที่ขอวีซ่าประเภทนี้ จะต้องมีหนังสือเดินทางและวีซ่าที่ถูกต้อง และสามารถยื่นขอวีซ่าได้พร้อมกับการขอวีซ่าของผู้เดินทางหลัก หรือยื่นขอทีหลังก็ได้
..........................................................................................................................

ขั้นตอนและบริการการขอวีซ่าในประเทศไทย

สำหรับผู้ที่ขอวีซ่าในประเทศไทยที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาจะต้องใช้ระบบการนัดวันสัมภาษณ์ และมาสัมภาษณ์ด้วยตัวเองที่สถานทูตเอง และด้วยระบบนี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการบริการนี้ โดยมีขั้นตอนคือ ผู้ขอวีซ่าจะต้องยื่นขอวีซ่า ทำการนัดหมายวันโดยเลือกด้วยตัวเอง โดยหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามทางโทรศัพท์ (มีเจ้าหน้าที่ให้บริการทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ)

จากนั้น ต้องซื้อรหัสประจำตัว (PIN) ทางอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์ โดยชำระด้วยบัตรเครดิต หรือจ่ายผ่านที่ทำการไปรษณีย์สาขาที่รับชำระได้ (จำนวน 246 แห่งทั่วประเทศ) โดยท่านสามารถจองวันสัมภาษณ์เพื่อขอวีซ่าชั่วคราวสำหรับ สมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันได้ไม่เกิน 5 คน ตามรายละเอียดดังนี้
ตารางเปรียบเทียบบริการทางเว็บไซต์และบริการทางโทรศัพท์ (Call Center)
การซื้อรหัสประจำตัว (PIN) ทางอินเตอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ สามารถซื้อได้โดยตรงทางเว็บไซต์หรือผ่าน Call Center โดยใช้บัตรเครดิต Visa หรือ MasterCard รหัสประจำตัว (PIN) นี้สามารถใช้ได้ทันที
• บริการทางเว็บไซต์: ที่อยู่เว็บไซต์: http://thailand.us-visaservices.com
• บริการทางโทรศัพท์ (Call Center): หมายเลขโทรศัพท์: 001-800-13-202-2457
• ที่ทำการไปรษณีย์ ท่านสามารถใช้เงินสดซื้อรหัสประจำตัว (PIN) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ร่วมโครงการ รหัสประจำตัว (PIN) นี้สามารถใช้ได้หลังเวลา 13.00 น. ในวันทำการถัดไป

..........................................................................................................................

ขั้นตอนในการขอวีซ่า

1. ชำระค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอวีซ่าที่เทียบเท่าเป็นเงินไทยบาท จำนวน US$131 ( ขึ้นกับอัตราที่สถานทูตกำหนด สำหรับ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2009 เท่ากับ 4,454 บาท) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ร่วมโครงการ จำนวน 246 แห่งทั่วประเทศคือ ทุกสาขาในกรุงเทพฯและที่ทำการไปรษณีย์จังหวัด (กุมภาพันธ์2009)
2. ซื้อรหัสประจำตัว (PIN) ได้โดยตรงทางเว็บไซต์หรือผ่าน Call Center โดยใช้บัตรเครดิต หรือใช้เงินสดซื้อรหัสประจำตัว(PIN) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ร่วมโครงการ สำหรับบริการรหัสประจำตัว (PIN) ทางเว็บไซต์
ค่าธรรมเนียม 408 บาท ส่วนบริการรหัสประจำตัว (PIN) ทางโทรศัพท์
ค่าธรรมเนียม 680 บาท
3. จองวันสัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ หรือทางโทรศัพท์ สำหรับสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันไม่เกิน 5 คน (สามี ภรรยา บิดา มารดา บุตร พี่หรือน้อง)
4. หาข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และสถานกงสุลฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ http://thai.bangkok.usembassy.gov/visas.html และ http://chiangmai.usconsulate.gov/visas.html

สำหรับบริการข้อมูลด้านวีซ่าและจองวันสัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ จะให้ข้อมูลด้านวีซ่าและจองวันสัมภาษณ์ ภายในเวลา 90 วันหลังซื้อรหัสประจำตัว (PIN) ส่วน Call Center เป็นการให้บริการข้อมูลด้านวีซ่าและจองวันสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามได้ 3 ครั้ง (หมายถึงนัดหมาย 1 ครั้ง เปลี่ยนแปลงได้ 2 ครั้ง) เมื่อซื้อรหัสประจำตัว (PIN) แล้ว

5. เตรียมเอกสารและรูปถ่ายตามที่กำหนด
6. เฉพาะผู้ขอวีซ่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ซื้อซองไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ณ ที่ทำการไปรษณีย์แม่ปิง ราคา 55 บาท
7. สถานกงสุล สถานทูตสหรัฐอเมริกา (ตรงข้ามอาคารสินธร หรือเยื้องกับสถานทูตสหรัฐฯ อาคารใหม่)
เลขที่ 95 ถนนวิทยุ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 02-205-4000
โทรสาร: 02-254-1171, 02-205-4103
8. เฉพาะผู้ขอวีซ่าในกรุงเทพมหานคร ซื้อซองไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ที่สถานทูตฯ ราคา 55 บาท
9. หนังสือเดินทางส่งคืนทางไปรษณีย์ภายใน 3 วันทำการ
..........................................................................................................................
เอกสารในการยื่นขอวีซ่า
1. หนังสือเดินทางปัจจุบันที่มีอายุเหลืออย่างน้อย 6 เดือนหลังจากวันสมัครวีซ่า รวมถึงหนังสือเดินทางเล่มเก่า หรือเล่มอื่นที่มีวีซ่าสหรัฐฯ โดยประวัติการ ออกวีซ่าสามารถใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติวีซ่าได้
2. รูปถ่าย 1 รูป (สี หรือ ขาวดำ) พื้นหลังขาว ขนาด 50 X 50 มม. ( 2 X 2 นิ้ว) สัดส่วนใบหน้าต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ หน้าตรงและเห็นหูทั้งสองข้าง ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
3. แบบฟอร์ม I-20 ที่ออกให้โดยสถานศึกษาในสหรัฐฯ กรุณากรอกแบบ
ฟอร์มและ ลงชื่อใน I-20
4. แบบฟอร์ม DS 156,157,158 ซึ่งจะกรอกล่วงหน้าตอนนัดวันสัมภาษณ์
ออนไลน์ พิมพ์และนำมาด้วยในวันสัมภาษณ์
(กรอกแบบฟอร์ม ที่ www.state.gov/m/a/dir/forms )
5. หลักฐานใบเสร็จ SEVIS Fee ซึ่งผู้สมัครจะต้องชำระค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน การสัมภาษณ์วีซ่าทางอินเตอร์เน็ตโดยใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต เช็ค หรือธนาณัติ โดยใช้แบบ ฟอร์ม I-901 (Fee for Remittance for Certain F, M and J non-immigrants) ควรชำระค่าธรรมเนียมทางอินเตอร์เน็ตหรือทางไปรษณีย์อย่างน้อย 3 วันทำการ ก่อนวันสัมภาษณ์วีซ่า และผู้สมัครต้องนำใบเสร็จการชำระ I-797 มาในวันสัมภาษณ์ ด้วยผู้ที่ชำระทาง อินเตอร์เน็ตสามารถพิมพ์ใบเสร็จได้ทันที นอกจากนี้ใบเสร็จรับเงินจาก Western Union ถือว่าเป็นหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมที่สามารถนำมาแสดงในวันสัมภาษณ์ได้เช่นกัน
6. หลักฐานการศึกษา ควรเป็นฉบับจริง
7. ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมในการยื่นขอวีซ่า จำนวน US$ 131 (4,454 ) บาท ณ กุมภาพันธ์ 2009 ) ต้องชำระล่วงหน้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์กว่า 246 แห่งทั่วประเทศ ไม่สามารถชำระที่สถานทูตได้
8. หลักฐานทางการเงิน ผู้สมัครวีซ่าควรยื่นหลักฐานการเงินที่สมบูรณ์ที่สามารถแสดงได้ว่าตนมีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับค่าเล่าเรียนและที่พักขณะที่อยู่ในสหรัฐฯ อาจเป็นสมุดบัญชีออมทรัพย์ บัญชีกระแสรายวัน บัญชีเงินฝาก ประจำ หรือเอกสารแสดงทรัพย์สินของผู้สนับสนุนทางการเงินของท่านได้ ท่านควรยื่นเอกสารต้นฉบับแผนก กงสุลไม่มีความจำเป็นต้องเก็บสำเนาของเอกสารเหล่านี้
9. หลักฐานที่แสดงถึงการมีถิ่นพำนักถาวรภายนอกสหรัฐฯ การสมัครวีซ่านักเรียนถือเป็นการสมัครวีซ่าประเภทชั่วคราว ผู้สมัครต้องสามารถพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่กงสุลเห็นว่าไม่มีความตั้งใจจะอยู่ในสหรัฐฯเป็นการถาวร โดยผู้สมัครต้องสามารถแสดง หลักฐานที่แสดงถึงความผูกพันทางครอบครัว เศรษฐกิจ สังคมภายนอกสหรัฐฯ โดยการมีญาติ นายจ้าง หรือเพื่อน ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ ไม่ว่าใครจะเป็น ผู้สนับสนุนการเดินทาง เจ้าหน้าที่กงสุลจะพิจารณาเป็นรายบุคคลว่ามีคุณสมบัติหรือไม่
..........................................................................................................................
ตัวอย่างประเภทของหลักฐานที่สามารถใช้ประกอบการขอวีซ่า
- จดหมายจากผู้ว่าจ้างที่แสดงถึงช่วงเวลาการทำงาน เงินเดือน และระยะเวลาการอนุมัติวันลาหยุดพักร้อนในช่วงของการเดินทาง

- เอกสารรับรองด้านการเงินหรือสมุดธนาคาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเงินทุนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีฐานะที่ร่ำรวยจึงจะได้รับวีซ่า เอกสารด้านการเงินที่แสดงประวัติด้านการธนาคารอย่างต่อเนื่อง มีการฝาก-ถอนแบบปกติจึงมีประโยชน์มากกว่าจดหมายที่แสดงให้เห็นว่ามีเงินฝากจำนวนมาก

- สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวควรแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของท่านประสบความสำเร็จ และมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม เอกสารทะเบียนการค้าไม่ได้มีประโยชน์เท่าใดนัก เอกสารที่เหมาะสมกว่าคือใบสัญญา ใบแจ้งหนี้ รายงานทางบัญชี และข้อมูลด้านการธนาคารที่แสดงถึงกิจกรรมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

- สำหรับบุคคลที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อฝึกอบรมระยะสั้น ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ควรอธิบายว่าการฝึกอบรมนั้นๆ และจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการทำงานได้อย่างไร ในกรณีที่ผู้สมัครไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ องค์กรที่จัดการฝึกอบรม ควรให้คำอธิบายว่าได้เตรียมการไว้อย่างไรเกี่ยว กับปัญหาด้านภาษา

- นักธุรกิจควรเตรียมตัวในการให้คำอธิบาย ถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางว่ามีการวางแผนเพื่อไปพบปะกับใคร และการเดินทางในครั้งนี้ มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร เอกสารทางโทรสารหรือจดหมายจากผู้ที่ติดต่อในสหรัฐอเมริกาอาจสามารถช่วยได้ หน่วยงานด้าน Foreign Commercial Service ของสถานทูตสามารถให้ความช่วยเหลือได้ในเรื่องของข้อมูล และความช่วยเหลือแก่นักธุรกิจที่ต้องการค้นหาผู้ผลิต หรือโอกาสด้านธุรกิจในสหรัฐอเมริกา

- สำหรับบุคคลที่ต้องการเดินทางเพื่อไปรับการรักษาทางด้านการแพทย์ ควรแสดงเอกสารบันทึกด้านการแพทย์ในประเทศไทย ที่อธิบายถึงลักษณะการป่วย เอกสารการนัดหมายในสหรัฐอเมริกา พร้อมประมาณการด้านค่าใช้จ่าย และหลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครสามารถชำระค่าใช้จ่ายนั้นๆ ได้ เนื่องจากบริการ ด้านการแพทย์ในสหรัฐอเมริกามีอัตราค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

- นักเรียนนักศึกษา ควรอธิบายได้ว่าการศึกษาในสหรัฐอเมริกาสามารถช่วยท่านได้อย่างไร เมื่อท่านเดินทางกลับมาแล้ว มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ท่านต้องการไปศึกษาหรือไม่ และมีความต้องการในตำแหน่งงานด้านนี้หรือไม่

..........................................................................................................................

No comments:

Post a Comment